หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | เรื่องเล่าเมืองรัตภูมิ "เหี้ย"
3 เมษายน 2561 | 12,560

เมื่อพูดถึง "เหี้ย" หรือ "ตัวเงินตัวทอง" ความเชื่อของคนไทยมองสัตว์ชนิดนี้ ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอัปมงคลและความโชคร้าย เมื่อเหี้ยเข้าบ้านหลังไหน บ้านหลังนั้นจะประสบแต่ความฉิบหายวอดวาย ความเชื่อดังกล่าวจะจริงแค่ไหน ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้แต่อย่างใด แต่เราจะได้ยินคำว่า "เหี้ย" มาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล และเอามาพูดกันในยุคปัจจุบันอย่างหนาหู

ภาคใต้ มีการนำเหี้ยเข้าไปเกี่ยวกับชีวิตและวัฒนธรรม โดยเรียกกันในชื่อ "แลน" ครอบคลุมทั้งเหี้ยและตะกวด คำว่า "แลน" ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ได้ให้ความหมายว่า มันเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ เนื่องจากแลนชอบกินของเน่าเหม็น โดยเฉพาะซากสัตว์ แม้กระทั่งซาากศพของมนุษย์เรา ในพื้นที่ภาคใต้บางแห่ง ห้ามนำแลนเข้าบ้าน เพราะเชื่อกันว่าถ้าแลนขึ้นบ้านใคร บ้านหลังนั้นจะพบกับความซวย

ปรากฏตัวแลนอยู่ในนิทานพื้นบ้านภาคใต้เรื่องหนึ่ง ชื่อว่า "แลนทองกับแลนเถื่อน" ซึ่งเล่าต่อๆกันมาใน อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นคติสอนใจผู้คน อันว่าด้วยเรื่องโทษของความอิจฉาริษยา ความว่า

มีหญิงสาว 2 คน คนหนึ่งยากจน แต่ชอบเอื้อเฟื้อชาวบ้าน อีกคนร่ำรวย แต่เย่อหยิ่ง ดูถูกชาวบ้าน ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งหญิงยากจนพบแลนทองตัวหนึ่ง จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านด้วยความอารี วันหนึ่งเธอจึงจูบที่หัวแลน ทำให้แลนทองตัวนั้นพ้นจากคำสาปแม่มดกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าเมืองคนหนึ่ง ทั้งสองจึงแต่งงานกันอย่างมีความสุขสืบมา ต่อมาหญิงผู้ร่ำรวยทราบข่าว เกิดความอิจฉาริษยา ต้องการจะได้ดีกว่าเพื่อนที่อดีตเคยยากจน จึงจ้างให้คนใช้ไปจับแลนตัวโตมาให้ตัวหนึ่ง นางกอดจูบแลนเถื่อน (แลนธรรมดา) หวังจะให้กลายเป็นหนุ่มรูปงาม แต่แลนเถื่อนตกใจ ข่วนหน้าตาหญิงสาวคนนั้นเป็นแผล ตั้งแต่นั้นมาหญิงสาวคนนั้นก็ไม่มีใครขอแต่งงานด้วย (กรมศิลปากร)

"แลน" ยังปรากฏในนิทานและตำนานอีกหลายเรื่อง อาทิ "นายแรง" เป็นตำนานการเกิดภูเขาและแม่น้ำบางแห่งในจังหวัดสงขลา เช่น การเกิดเขารุนคลองห้วยแลน เขาหัวหมา เขาแดง เขาเก้าเส้ง โดยนิทานเรื่องนายแรงได้นำเอาลักษณะทางภูมิประเทศมาผูกร้อยเป็นเรื่องราว ปัจจุบัน "แลน" เป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งสามารถขายทั้งเนื้อและหนังไม่แพ้จระเข้

ภาพของนายแรง โดย "ครูกระจ่าง จันทร์สังข์" เขียนไว้ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ฝาผนังอาคารศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ (ภายใน ม.ทักษิณ)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง